e-Learning (Electronic learning)

e-Learning (Electronic learning)

e-Learning นั้นเป็นคำเรียกย่อ ที่แปรมาจากคำว่า Electron

e-Learning นั้นเป็นคำเรียกย่อ ที่แปรมาจากคำว่า Electronics Learning ซึ่งหมายความถึงการเรียนหนังสือผ่านสื่ออิเล็คทรอนิกส์ โดยมีเครื่องมือให้ใช้อยู่ 3 แบบคือ

  1. Computer-based Learning หรือเรียกอีกชื่อว่า Computer-Assisted Instruction (CAI)
  2. Online Learning (Web-based Learning หรือ Web-based Instruction)
  3. Distance Learning

Computer-based Learning หรือเรียกอีกชื่อว่า Computer Assisted Instruction (CAI) นั้นก็แปลตรงๆ ตัวได้ว่าการใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อช่วยในเรื่องการเรียน-การสอน

ขณะที่ Online Learning (Web-based Learning หรือ Web-based Instruction) นั้น หมายถึงการเรียน-การสอนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก

คือต้องเชื่อมต่อสายสัญญาณไว้ตลอดเวลาที่เรียน และการเชื่อมสายสัญญาณนี้ เขาเรียกกันว่าการ ‘ออนไลน์’ ซึ่งบางครั้งอาจแจมโดยเจ้าอินทราเน็ต (Intranet) หรือเอ็กซ์ตร้าเน็ต (Extranet) ด้วยก็ย่อมได้

และตัวสุดท้ายก็คือ Distance Learning ซึ่งหมายถึงการศึกษา ‘ทางไกล’ ทุกประเภท เช่น การใช้บริการไปรษณีย์, Video Tape, CD-Rom, รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา, รายการวิทยุเพื่อการศึกษา ฯลฯ

e-Learning
e-Learning

ในยุคนี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็สะดวกง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร ธุรกรรมการเงิน ข่าวสารต่าง ๆ มาอยู่บนหน้าจอให้เราได้เลือกใช้ตามสะดวก เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกตรงหน้าจนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เช่นเดียวกับ “การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล” ที่เราเรียกว่า e-Learning หลายๆ คนคงเคยผ่านประสบการณ์ “การเรียนออนไลน์” โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต Covid-19 ซึ่งทุกคนไม่เว้นแม้แต่ครูในยุคอะนาล็อกต้องฝึกใช้โปรแกรมการสอนออนไลน์ แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของเทรนด์โลกที่กำลังดึงเราเข้าสู่การเรียนรู้แบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ในหลายๆ รูปแบบดังต่อไปนี้

1.การเรียนปรับเปลี่ยนตามสไตล์ตัวเอง (Personalized and Adaptive Learning)

หากเปรียบการศึกษากับรองเท้า หากจะให้เข้ากับเท้าของผู้สวมใส่มากที่สุดก็ต้องสั่งตัดไซส์เฉพาะตัว เพราะเท้าของแต่ละคนมีขนาดต่างกัน ในยุคก่อน เราผลิตรองเท้าออกมาเป็นโหล ๆ จากส่วนกลางให้แต่ละคน “ตัดเท้าให้เข้ากับรองเท้า” หรือปรับสมองให้เข้ากับเนื้อหาส่วนกลาง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลไม่ดีนัก เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีศักยภาพในการเรียนรู้และความต้องการแตกต่างกัน แต่จะโทษว่าคนในยุคก่อนขาดวิสัยทัศน์ก็ใช่ที่ เพราะในยุคที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า คงไม่มีใครจินตนาการถึงการคิดหลักสูตรการศึกษาหรือสร้างครูขึ้นมาเพื่อสอนคน ๆ เดียวได้

แต่ในโลกยุคปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบุคคล (Personalization) เกิดขึ้นกับทุกวงการไม่เว้นแม้แต่การศึกษา เนื่องจากปัจจัยที่เพียบพร้อมหลายอย่าง เช่น เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นมาก ทั้งความเร็วในการสื่อสาร และอุปกรณ์การสื่อสารที่มีอย่างหลากหลาย บุคลากรการศึกษาหรือครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกิดขึ้นมากมายจากทั่วทุกมุมโลก และแพลตฟอร์มของ “ห้องเรียน” ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างเนื้อหาและจัดการเรียนการสอนขึ้นจากตรงไหนก็ได้ในโลก ผู้สอนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปหาผู้เรียนในห้องเรียนอีกแล้ว เพราะผู้เรียนสามารถ “เดินทาง” ผ่านการสื่อสารจากอีกซีกโลกหนึ่งเพื่อไปเรียนกับครูในห้องเรียนเฉพาะทาง และเลือกเรียนในเนื้อหาตามความต้องการและศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ ดังปรากฏในปัจจุบันว่าพนักงานในบริษัทต่าง ๆ ของโลกกว่า 58% เลือกพัฒนาทักษะของตนเองผ่าน LMS หรือ Learning Management System ซึ่งสามารถนำทักษะหรือใบรับรองความรู้จากหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีในโลกออนไลน์มาใช้ในการทำงานและเลื่อนตำแหน่งของตนเองได้จริง

2. เรียนรู้อยู่ร่วมกันบนสังคมยุคใหม่ (Social and Collaborative Learning)

คำกล่าวที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ยังใช้ได้เสมอสำหรับการเรียนการสอนทุกยุคสมัย ในยุคก่อน การไปพบเจอเพื่อน ๆ และครูในโรงเรียน หรือการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ก็เพื่อฝึกการเข้าสังคมและการทำงานร่วมกับผู้อื่น แต่ในโลกยุคดิจิทัล การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลง คำว่า “สังคม” กินความกว้างขวางมากขึ้น โดยในปัจจุบันหมายความรวมถึงสังคมในโลกออนไลน์ (Social Network) ซึ่งมีผู้คนทุกมุมโลก “อาศัย” อยู่ในนั้น หรือพื้นที่เฉพาะในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น ห้องสนทนาออนไลน์ หรือ Online Forums ซึ่งทุกคนสามารถมาแลกเปลี่ยนความรู้เฉพาะทางต่างๆ ในหัวข้อที่ตนเองสนใจ ตลอดจนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลออนไลน์ ซึ่งทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลมหาศาลได้เพียงแค่ปลายนิ้ว และพื้นที่ทำงานร่วมกันบนโลกออนไลน์ หรือ Digital Workspaces ที่สามารถสร้างห้องเรียนหรือจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ได้โดยไม่ต้องถ่อไปจองห้องประชุมแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

เมื่อ “การเข้าสังคม” และ “การทำงานร่วมกับผู้อื่น” เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น การเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์และการอยู่ร่วมกับสังคมยุคใหม่จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องพื้นฐานอย่างระบบและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้สังคมดิจิทัล มารยาททางสังคมเมื่อเราเป็นพลเมืองออนไลน์ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมออนไลน์ ล้วนเป็นสิ่งที่สัตว์สังคมอย่างมนุษย์ต้องเรียนรู้เพื่อการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นโลกจริงหรือโลกดิจิทัล

3. การเรียนผ่านสื่อวีดิทัศน์เพื่อการเรียนรู้ (Video Learning)

ครั้งหนึ่งเทคโนโลยีการพิมพ์เคยเปลี่ยนแปลงโลก หนังสือจำนวนมากได้รับการตีพิมพ์ขึ้นมาให้มนุษย์ได้เรียนรู้ผ่านหนังสือและตัวอักษร ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการสื่อสารได้เปลี่ยนแปลงโลกอีกครั้ง เนื่องจากทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางผ่านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ “สื่อวีดิทัศน์เพื่อการเรียนรู้” สำหรับคนรุ่นก่อนอาจนึกภาพสื่อวีดิทัศน์คือวิดีโอบันทึกการเลคเชอร์ของครูหน้าห้องเรียน แต่สำหรับสื่อวีดิทัศน์เพื่อการเรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่กินความกว้างกว่านั้น เพราะอาจหมายถึงวิดีโอบันทึกการสัมมนาในหัวข้อที่ตนเองสนใจ แบบ TED Talks เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ หรือ คอร์สการเรียนผ่านการประชุมออนไลน์ ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อน ๆ ร่วมห้องในโลกออนไลน์

การเรียนผ่านสื่อวีดิทัศน์เพื่อการเรียนรู้เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการเรียนที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนได้ ดังที่มีผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาจำแนกผู้เรียนออกเป็น 3 แบบคือ ผู้เรียนที่เรียนผ่านการมองเห็น (Visual Learners) ผู้เรียนที่ถนัดการสนทนาแลกเปลี่ยน (Auditory Learners) และผู้เรียนที่ถนัดการทดลองและสัมผัส (Kinesthetic Learners) แต่เดิมสื่อวีดิทัศน์อาจตอบโจทย์เฉพาะผู้เรียนในแบบแรก ทว่าในปัจจุบันที่สื่อมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนได้มากขึ้น ผู้เรียนประเภทที่สองและสามก็ย่อมค้นหาสื่อวีดิทัศน์เพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาตนเองได้มากขึ้นเช่นกัน

4. A.I. ที่ปรึกษาคู่ใจในการเรียน (Artificial Intelligence)

ปัญญาประดิษฐ์ ที่มาจากคำว่า Artificial Intelligence หรือเรียกย่อว่า A.I. ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวอยู่ในภาพยนตร์ไซไฟเท่านั้น แต่ปัจจุบัน เรานึกอะไรไม่ออกเราก็หันไปถาม Siri หรือ Google Assistant ในมือถือทุกที ซึ่งทั้งสองนับเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่คู่ระบบการทำงานในโทรศัพท์มือถือยุคใหม่ที่ทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี

การใช้ A.I. นับเป็นเครื่องมือในการศึกษาที่สำคัญอย่างหนึ่งในโลกปัจจุบัน เนื่องจากความสามารถในการรับและจำแนกข้อมูลมหาศาล (Big Data) และการประมวลผลที่รวดเร็วกว่าสมองของมนุษย์ทุกคนบนโลก ทำให้ A.I. ถูกใช้เพื่อสนับสนุนการศึกษาในหลากหลายรูปแบบ เช่น การตอบคำถามอัตโนมัติ หรือChatbot ที่สามารถตอบข้อสงสัยของนักเรียนได้ทันที แถมยังค้นหาคำตอบที่ใกล้เคียงหรือนำเสนอช่องทางการเรียนรู้เพิ่มเติมในหัวข้อดังกล่าวให้แก่ผู้เรียนได้ในเสี้ยววินาที มีการคัดเลือกเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนจากสื่อการเรียนรู้ที่มีอยู่มหาศาลบนโลก นอกจากนี้ยังสามารถเป็นผู้แนะแนวการศึกษา สามารถทดสอบระดับความรู้และความสนใจของผู้เรียน เพื่อแนะนำคอร์สที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน อีกทั้งยังสามารถประเมินเทรนด์ความรู้ของโลกในปัจจุบันเพื่อชี้แนะแนวทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียนได้อีกด้วย เรียกว่าคิดอะไรไม่ออก บอกพี่ A.I. เดี๋ยวจัดให้ทันที

5. เรียนรู้แบบสั้นกระชับ ตรงประเด็น (Microlearning)

ในโลกปัจจุบัน คำว่า “ผู้เรียน” ใช่มีแต่คนผมเกรียนนุ่งขาสั้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ใหญ่วัยทำงานที่ต้องการพัฒนาทักษะเฉพาะทางบางอย่างด้วย แต่เดิม หากเราต้องการฝึกทำอินโฟกราฟิก อาจต้องไปลงเรียนกับคณะที่สอนทางด้านดีไซน์โดยตรง แต่ในปัจจุบัน ความรู้ต่าง ๆ ถูกย่อยให้ “พอดีคำ” และ “เข้าถึงง่าย” จึงเกิดคอร์สระยะสั้น ที่มีเนื้อหาหลากหลาย นำไปใช้ได้ตรงจุด และสามารถเรียนจบได้ในเวลาไม่นานนัก เช่น คอร์สฝึกทำอินโฟกราฟิก อาจประกอบด้วยการแนะนำโปรแกรมที่ใช้ในการตัดต่อภาพ ความรู้เรื่องดีไซน์เบื้องต้น และเทคนิคการย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่าย ทั้งหมดประกอบกันเป็นคอร์สสั้น ๆ ที่อาจมีวีดิโอประกอบการสอน เนื้อหาที่อ่านเข้าใจง่าย ตลอดจนแบบทดสอบเฉพาะทาง เน้นการฝึกปฏิบัติจนเกิดทักษะ ผู้ที่ผ่านการอบรมคอร์สสั้นเหล่านี้สามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานได้ทันที

การเรียนแบบคอร์สระยะสั้น (Microlearning) เป็นที่นิยมมากในองค์กรต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาทักษะเฉพาะทางให้แก่พนักงาน นอกจากนี้ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนมีพื้นฐานที่เกิดจากการปฏิบัติ เพื่อต่อยอดไปสู่การเรียนเรื่องดังกล่าวในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้นในอนาคต

6. เรียนอย่างสนุกสนานผ่านเกม (Gamification)

กระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาสมองมนุษย์ได้มากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการฝึกการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา และการฝึกคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาที่สนุกสนานที่สุดมักเกิดจากการเล่นเกม ซึ่งเป็นเทรนด์การเรียนรู้แบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 เมื่อพูดถึงเกม หลายคนอาจจะนึกไปถึงการเล่นไร้สาระของเด็ก ๆ แต่ที่จริงแล้วเกมอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ลองนึกถึงบัตรเครดิตหรือบัตรสะสมแต้มจากการจับจ่ายใช้สอย ยิ่งมีเลเวลสูงระดับ Gold/Platinum ก็ยิ่งมีอำนาจซื้อของมากขึ้น จะว่าไปก็คล้ายกับการสะสมเลเวลของเกมประเภท RPG ไม่น้อย นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของ Gamification ที่นำมาใช้ในธุรกิจ ให้ผู้ซื้อ (ผู้เล่น) ได้เพิ่มความเก่งกาจหรืออำนาจของตนผ่านการใช้เงินซื้อสินค้านั่นเอง

การเรียนรู้โดยใช้เกม หรือ Gamification คือการยืมโครงสร้างของเกมมาประยุกต์ใช้กับหัวข้อการเรียนรู้ที่ต้องการ โดยกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้ มีข้อตกลงเรื่องกฎกติกา ให้เกิดมิติของความขัดแย้ง การแข่งขัน หรือการสร้างความร่วมมือในทีม เพื่อการบรรลุเป้าหมายของเกมนั้นๆ เมื่อเอาชนะเกมได้ก็จะมีรางวัลตอบแทนผู้ชนะ ให้เกิดแรงจูงใจในการเอาชนะเกม หรืออาจมีการแสดงอันดับคะแนน เพื่อให้ผู้แข่งขันเกิดความภูมิใจและอยากเอาชนะมากขึ้น สุดท้ายก็คือการสร้างระดับ หรือ Levels ของเกมเพื่อให้ผู้เรียนในฐานะผู้เล่นเกมได้พัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีก

การใช้ Gamification ในห้องเรียนหรือในบริษัท อาจเริ่มง่ายๆ เช่น การสร้าง Quiz ออนไลน์และแข่งขันกันตอบคำถามสำคัญ เปลี่ยนคำในห้องเรียนเป็นภาษาในเกม เช่น Test เป็น Quest หรือ Grade เป็น Experience Point (EXP.) การจัดทีมในบริษัทเพื่อแข่งขันกันทำโปรเจคท์บางอย่าง สิ่งที่ได้มากกว่าความรู้ก็คือการฝึกคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาร่วมกัน แถมยังสนุกสนานและท้าทายความสามารถอีกต่างหาก

7. ความรู้ในกำมือ ถือไปเรียนได้ทุกที่ (Mobile Learning)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ปฏิวัติการสื่อสารของมนุษย์ในโลกยุคปัจจุบันก็คือเครื่องมือสื่อสารที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน แต่เดิมที่โทรศัพท์มือถือทำได้เพียงเข้าอินเทอร์เน็ตและเสิร์ชข้อมูลง่ายๆ แต่ในปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของมนุษย์เลยทีเดียว รวมทั้งการเกิดขึ้นของ Mobile Learning หรือ mLearning ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างการค้นหาข้อมูลที่น่าสนใจ การใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียน เนื้อหาการเรียนที่ถูกย่อยเป็นคอร์สสั้นทันใจ แบบ Microlearning ที่เหมาะกับการเรียนในระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างรถติดหรือรอประชุม หรือการใช้กลไกเกมในการเรียนรู้ แบบ Gamification เพื่อให้การเรียนเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทั้งหมดบรรจุอยู่ในแอปพลิเคชันต่างๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้มากมาย อีกทั้งในโทรศัพท์มือถือยังบรรจุ A.I. อัจฉริยะ ที่จะคอยแนะนำการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเราอีกต่างหาก เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือและรูปแบบการเรียนรู้ของโลกยุคใหม่ที่ใคร ๆ ก็มีในครอบครองได้ไม่ยาก นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยจากซินดี ปาสคาล ผู้บริหารของบริษัท Vado ซึ่งมีประสบการณ์พัฒนาบุคลากรมากว่า 12 ปียืนยันว่า mLearning คือรูปแบบการเรียนที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดของทุกแพลตฟอร์มในการเรียน eLearning ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ความรู้ต่างๆ ได้รับการพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือมากขึ้นทุกปี

8. ห้องเรียนเสมือนจริง (Augmented & Virtual Reality)

เราอาจเคยเห็นจากภาพยนตร์ไซไฟที่มีเครื่องฉายแสงให้เห็นบุคคลจากคนละซีกโลกมานั่งประชุมในห้องเดียวกัน ภาพเหล่านั้นอาจเป็นจริงในอีกไม่นาน เนื่องจากเทคโนโลยีภาพจริงเสมือน (Augmented Reality) และการจำลองภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) ในปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นมาก เราสามารถมองวัตถุในโลกดิจิทัลผสานเข้ากับภาพในโลกจริงผ่านเครื่องมือสื่อสาร (ถ้ายังนึกไม่ออกก็อย่างเช่น เวลาเราเล่นเกม Pokemon Go เมื่อส่องมือถือออกไปก็พบเจ้าโปเกมอนยืนยิ้มให้เราในห้องนั่นเอง) หรือเข้าไปในโลกเสมือนที่สร้างผ่านระบบดิจิทัลโดยใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น แว่น VR ที่ใช้ในการเล่นเกม VR ทั้งหลายที่วางขายกันอยู่ทั่วไป

แม้ว่าในปัจจุบัน Augmented & Virtual Reality ยังมีข้อจำกัดที่ต้องใช้ผ่านเครื่องมือสื่อสารหรือโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่ในวงการการศึกษานั้นเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการเรียนการสอนมากขึ้น เช่น การใช้ภาพจริงเสมือนในหนังสือเรียนซึ่งมีโค้ดพิเศษ เมื่อใช้โทรศัพท์มือถือส่องเข้าไปในหน้าหนังสือดังกล่าวก็จะปรากฏภาพสามมิติลอยขึ้นมาจากหน้าหนังสือ หรือการสร้างบทเรียนเสมือนจริงจาก VR เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ระบบนิเวศใต้ทะเลแบบ 360 องศา ในสถาบันวิจัยเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งทำให้นักศึกษาเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลและปะการังใต้น้ำเมื่อเกิดการปนเปื้อนของคาร์บอนอย่างใกล้ชิด ไม่แน่ว่าในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารพัฒนาไปอีกขั้น เราอาจจะได้ย้อนอดีตไปสัมผัสไดโนเสาร์ตัวเป็น ๆ หรือบินขึ้นไปสำรวจอวกาศด้วยกันผ่านเครื่องมือสื่อสารก็เป็นได้

9 เรียนรู้และพัฒนาทักษะไม่สิ้นสุด ผ่านการสร้าง Learning Management Systems

ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในสหรัฐอเมริกากว่า 52% ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกอาจทำให้ความรู้หรือทักษะบางอย่างที่เรามีนั้นหมดคุณค่าภายใน 1-2 ปี ซึ่งนำมาสู่ปัญหาอัตราการเปลี่ยนงานที่สูงมากในปัจจุบันและเกิดค่าใช้จ่ายด้านการเปลี่ยนแปลงบุคลากรมหาศาล หลายบริษัทและสถาบันการศึกษาจึงต้อง “คิดใหม่” เกี่ยวกับระบบการศึกษาในปัจจุบันว่าไม่สามารถให้ผู้เรียนหยุดเรียนรู้ที่การจบปริญญาได้อีกแล้ว แต่ต้องสร้างระบบการจัดการการเรียนรู้ หรือ Learning Management Systems – LMS เพิ่มเติมในบริษัทอีกด้วย เทรนด์ของ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” จึงเป็นจุดเด่นของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนจากการมุ่งเน้นให้คน “เชี่ยวชาญด้านเดียว” (Experts) เป็น “เชี่ยวชาญการยืดหยุ่น” (Flexperts) สามารถเรียนรู้ทักษะเฉพาะด้านเพื่อใช้ในการทำงาน เมื่อเทรนด์โลกเปลี่ยนก็สามารถปรับการเรียนรู้ทักษะใหม่ให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีผลสำรวจว่า พนักงานกว่า 94% ยินดีที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หากบริษัทมีระบบที่สนับสนุนการเรียนรู้ที่ดีพอ

Learning Management Systems นอกจากจะอยู่ในรูปแบบซอฟต์แวร์หรือระบบที่เชื่อมต่อกับโลกการศึกษาออนไลน์แล้ว ยังหมายความถึงระบบการจัดการความรู้ (Knowledge Management – KM) ที่อยู่ในบริษัท การใช้ A.I. เพื่อจัดการความรู้ที่เหมาะสมกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัท การย่อยความรู้ในรูปแบบ mLearning, Microlearning, Gamification และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนและความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ หลายบริษัทจึงเริ่มลงทุนในการพัฒนา LMS และคาดว่าตลาดของ LMS จะเติบโตไปถึง 22.4 พันล้านดอลลาร์ในอีกสองปีข้างหน้า หมายความว่าวัยรุ่นยุคใหม่จะไม่หยุดเรียนรู้แค่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ท่ามกลางระบบการเรียนแบบใหม่ยังมีอะไรให้เรียนรู้ตลอดชีวิต

เป็นอย่างไรบ้างกับเทรนด์การศึกษาในยุคดิจิทัล เมื่อโลกเปลี่ยน เราเปลี่ยน การศึกษายุคใหม่ก็ไม่พ้นความเปลี่ยนแปลง สำหรับวัยรุ่นยุค 5G ซึ่งเติบโตมากับความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดทุกปี ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ แต่โลกก็ไม่เคยหยุดรอเรา ดังนั้นสิ่งเราควรจะทำก็คือตามเทรนด์ของโลกให้ทันและเป็นผู้นำในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ในยุคต่อไป ดังที่ฌอง ปีอาเจต์ นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า “เป้าหมายของการศึกษาคือการสร้างชายและหญิงที่พร้อมจะสร้างสิ่งใหม่ มิใช่ทำเรื่องเก่าซ้ำรอยบรรพบุรุษ”

อ้างอิง: https://www.tkpark.or.th/eng/blog_detail/1609232527417/รู้จัก-9-เทรนด์การเรียนรู้-แบบ-eLearning-ของคนยุค-5G

Posts Carousel

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked with *

Latest Posts

Most Commented